ประวัติศาสตร์รัตน์โกสินทร์สมัยปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๗๕-ปัจจุบัน)

     ประวัติศาสตร์รัตน์โกสินทร์สมัยปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขใน วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน

พัฒนาการทางการเมือง

     นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยได้พัฒนาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อนการ   แต่กว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหาร และการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้การปกครองในบางช่วงต้องตกอยู่ภายใต้เผด็จการ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ก็ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยังมีข้อที่ต้องแก้ไข ในบางประเด็นแต่ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการเมืองในประเทศไทย ในแง่ที่ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเพิ่มขึ้น

     เหตุการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนา การทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้แก่

    ๑. การรัฐประหารและกบฏ

          หมายถึงการเข้าไปแทรกแซงตัดทอนระบบการพัฒนา ทางประชาธิปไตยด้วยการใช้วิธีการไม่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจทางการเมือง ถ้าได้รับชัยชนะก็จะเรียกว่า “การทำรัฐประหาร”แต่หากพ่ายแพ้ก็จะเรียกว่า “กบฏ” หลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการทำรัฐประหารและการกบฏหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญ ได้แก่

          ๑)  กบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ผู้ทำการกบฏคือ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุผลที่นำไปสู่การกบฏคือ การกล่าวหาว่าคณะราษฎร ไม่ได้บริหารบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง     

          หลังกบฏส่งผลให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย และผู้นำทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองต่อมา

                                  

                            ภาพที่ ๘.๑ พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชผู้ก่อการกบฏในปี พ.ศ. ๒๔๗๖

                                    

                             ภาพที่ ๘.๒ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗

          ๒)  การทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดขึ้นเมื่อ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐

                                

     ภาพที่ ๘.๓ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ใช้รูปแแบการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ คือ ผู้นำมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น เผด็จการทางการทหาร

          ๓)  การรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยคณะนายทหารที่เรียกว่า"คณะปฏิรูปปกครองแผ่นดิน"  นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื่องจากเห็นว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มต่าง ๆ เป็นการทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ผลจากการรัฐประหารทำให้เกิดการประนีประนอมทางการเมือง ระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยในลักษณะ “ประชาธิปไตยโดยครึ่งใบ” ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๑)

         ๔)  การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ "คณะ รสช." เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื่องจากเห็นว่าคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่สุจริต ผลจากการรัฐประหาร คือ คณะ รสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๒๑ และใช้ประชาชนพากันต่อต้าน จนกลายเป็น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขึ้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

     ๒.  เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

             เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาปัญญาชน และชนชั้นกลางเกิดความรักชาติไม่พอใจที่ถูกต่างชาติเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ มีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและต่อต้านนโยบายทางการต่างประเทศ ที่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย นำมาสูการรวมตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลทหาร ที่ปกครองโดยไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยมาเกือบ ๒๐ ปี คือ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๖) และสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๖)

           ผลจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ของผู้คนและทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็ทำให้ผู้นำในขณะนั้นต้องต้องยอมจำนนและเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขึ้น ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่าง ๆ  ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองผ่านระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองมีการควบคุม ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันนิติบัญญัติและสถาบันบริหาร ไม่ได้ผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียวเหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

     ๓.  เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

            เหตุการณ์ตื่นตัวทางการเมือง ทำให้คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมมีโอกาสเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ เกิดเป็นการรวมกลุ่มผลประโยชน์ในรูปสหพันธ์ต่าง ๆ  เช่น สหพันธ์กรรมกร สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มั่นคงรักษาผลประโยชน์ของตน เช่น มีการนัดหยุดงาน เดินประท้วง เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดออกเป็น  ”ซ้าย” และ “ขวา”    “ซ้าย” หมายถึง ผู้มีแนวคิดเชิงสังคมนิยม    ส่วน “ขวา” หมายถึง ผู้มีแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม ความขัดแย้งทางความคิดได้ก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อมีการรวมตัวกันของนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งและได้ถูกกล่าวหา ว่ากระทำการดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จึงนำมาซึ่งการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันกลุ่มทหารก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยอ้างว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต

          ผลจากเหตุการณ์ ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙ นี้ผลักดันให้ปัญญาชนบางส่วนต้องเข้าป่า  เป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งทำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ รัฐบาลจึงได้ทบทวนมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเมือง โดยเปลี่ยนจากการใช้กำลังเข้าปราบปราม มาเป็นการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร โดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ฉบับที่ ๖๖/๒๕๒๓ ด้วยวิธีการเรียกร้องให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนเข้าป่า ป่า และไม่ถือว่ามีความผิด เมื่อกลับมาแล้วรัฐบาลได้จัดหาที่ทำกินให้ด้วย ต่อมารัฐบาลได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ ๖๖/๒๕๒๕ เพื่อดำเนินการในลักษณะต่อเนื่อง ทำให้สามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด

     ๔.  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕

            เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ จากการชุมชนของประชาชนเพื่อต่อต้านการขึ้นสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร   หนึ่งในผู้นำทหารในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

           การต่อต้านครั้งนี้ปรากฏว่ามีชนชั้นกลางจากภาคธุรกิจเอกชน เข้ามีส่วนร่วมจำนวนมากจนเรียกว่าเป็นชุมชนของ “ม๊อบมือถือ”

           เหตุการณ์พฤษภาทมิฬจบลงด้วยการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ทรัพย์สินราชการเสียหายและการลาออก ของพลเอก สุจินดา คราประยูร  ผลจากเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย อย่างสมบูรณ์โดยมีตัวแทนการเลือกตั้ง และมีรัฐสภาเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นมากกว่าการเข้ามามีอำนาจทางการปกครอง โดยไม่ได้ผ่านกลไกของระบอบประชาธิปไตย

        ดังนั้นจึงได้มีกระแสเรียกร้องให้ทำการปฏิรูปการเมืองการปกครอง แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรสช. ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ (ฉบับที่ ๑๖) ในปัจจุบัน

        

พัฒนาการทางเศรษฐกิจ

     ๑.  โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๕ เป็นเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหลัก วิธีการผลิตยังใช้แบบดั้งเดิม  คือ  พึ่งพาธรรมชาติมาก พึ่งพาเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์น้อย แต่กระนั้นก็สมารถผลิตได้เพียงพอบริโภคภายในประเทศ และยังมีเหลือส่งเป็นสินค้าออกไปยังต่างประเทศด้วย อุตสาหกรรมขณะนั้นยังไม่เติมโตมากนัก ที่มีก็อยู่ในมือของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

     ๒.  ผลจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘) ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ของชาวตะวันตกต้องหยุดชะงัก เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้ามามีบทบาท ในทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมากขึ้นในระยะต่อมา นอกจากนี้สงครามยังทำให้ธนาคารพาณิชย์ สาขาของต่างชาติถูกยึดหรือปิดกิจการ ส่งผลให้ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยเข้าแสวงหาผลประโยชน์ จากธนาคารพาณิชย์มาเป็นฐานสนับสนุนเศรษฐกิจกลุ่มตนขึ้น ระยะนี้ (ปลายทศวรรษที่ ๒๔๘๐-๒๔๙๐) ถือว่าเป็น “เศรษฐกิจแบบชาตินิยม” หรือ  “ทุนนิยมโดยรัฐ”  ส่งผลให้เกิดรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาด้านทุจริตเกิดขึ้น ระบบบัญชีไม่เรียบร้อย เป็นแหล่งแจกผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องผู้มีอำนาจ และสำคัญที่สุดคือ  เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ

     ๓.  ในปลายทศวรรษที่ ๒๔๙๐ โลกเข้าสู่ภาวะสงครามเย็น (Cold War) เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำของโลกเสรีมีความเชื่อว่าถ้าประเทศด้อยพัฒนาตกเป็นของคอมมิวนิสต์แล้ว  จะทำให้ประเทศที่อยู่ติด ๆ  กันต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย โลกเสรีเห็นว่าไทยตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ ที่สำคัญต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงให้ความในใจเป็นพิเศษที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมไทยมีความเข้มแข็งเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจคอมมิวนิสต์ด้วย “การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งเชื่อว่าเป็นยาขนานเอกที่จะแก้ไขความยากจนและเพิ่มความมั่นคงให้แก่ประเทศได้

           ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยก็ได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมตามแนวทางทุนนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจะมีอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดเจนในรูปของตัวเลขแต่ผลการพัฒนา ก็ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เพราะกิจกรรมการพัฒนาที่ผ่านมามิได้คำนึงถึงต้นทุน และการจัดการเตรียมการในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และแบบแผนภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นข้อสรุปได้ว่า แม้ประเทศจะพัฒนาแต่ก็จะไม่ยั่งยืน ทำให้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับปัจจุบัน (แผนฯ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙) ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ด้วยระบบเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

     ๔.  เศรษฐกิจไทยมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ผ่านมา ไทยก็ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น เดียวกับเพื่อนบ้านชี้ให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจของไทยขาดเอกภาพ เพราะเน้นการส่งออก ในขณะเดียวกันก็นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

      

พัฒนาการสังคม

     ๑.  สภาพสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบศักดินาแม้ว่าจะยุติลง  แต่ “ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์” ก็ดำรงอยู่ ปรากฏให้เห็นในเรื่องของการแบ่งพรรคเล่นพวก แบ่งสี แบ่งสถาบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

     ๒.  วิถีชีวิตแบบเมือง ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ถูกความจำเป็น ให้ต้องเป็นครอบครัวเดี่ยวต้องแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกันต่อเพื่อความอยู่รอด

     ๓.  สังคมสมัยใหม่ สังคมที่บังคับให้สมาชิกต้องเข้ารับการศึกษา จากระบบโรงเรียนแต่การกระจายโอกาสการศึกษาในระดับสูงหรืออุดมศึกษายังไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ระบบการศึกษาของไทยยังเลียนแบบระบบการศึกษาจากตะวันตก จึงเน้นการสร้างคนให้เป็นตามสังคมตะวันตก มิได้เน้นการสร้างผู้นำ

     ๔.  สังคมพหุนิยม หมายถึง สังคมที่มีกลุ่มคนและองค์กรที่มีระบบ คิดและผลประโยชน์แตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่ดำรงอยู่ด้วยกันโดยไม่ปรปักษ์จนต้องรบราฆ่าฟันกัน ต่อเนื่องจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองดังเช่นประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ  ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้น ทั้งนี้อาจเนื่องจากรากฐานของสังคมไทย คือพระพุทธศาสนาทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของขันติธรรม อภัยทานกฎแห่งกรรม ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ลุกลามร้ายแรงขึ้นในที่สุด

        

ความเจริญทางวัฒนธรรม

     ประเทศไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะ รู้สึก “เลือก-รับ-ปรับ-ใช้”  เพื่อดำรงความเป็นไทยให้คงอยู่ต่อไป

     ๑.  สถาปัตยกรรม

          ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบสมัยใหม่ ดังเช่น สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพุทธยอดฟ้าฯ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น

     ๒.  ประเพณีไทย

           เนื่องจากพัฒนากรของรัฐ เป็นการรวมกลุ่มของหลายรัฐเข้าด้วยกันลักษณะประเพณี จึงมีหลากหลาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น  “ไทย” ได้อย่างชัดเจน

                          

 ภาพที่ ๘.๔ ฟ้อนเล็บ การฟ้อนชนิดนี้เป็นแบบศิลปะที่มีขึ้นในท้องถิ่นพื้นเมือง เป็นประเพณีของชาวล้านนาทางภาคเหนือ

                

                       ภาพที่ ๘.๕ เพลงฉ่อย เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่ผู้เล่นจะร้องเพลงโต้ตอบกันสั้น ๆ

                          

 ภาพที่ ๘.๖ ฟ้อนผู้ไทยเป็นการแสดงพื้นเมืองอย่างเมืองของชาวผู้ไทย จะแสดงในงานเทศกาลบุญเดือนหก คือ บุญบั้งไฟ ในภาคอีสาน

                

        ภาพที่ ๘.๗ โนรา หรือมโนห์รา เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาและนิยมกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้

        

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

จำนวนผู้เข้าชม ครั้ง