สมัยธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นเพียงการสิ้นสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานี แต่ไม่ได้หมายถึงการสลายตัวของรัฐไทย รัฐไทยยังไม่ตกเป็นของพม่าทั้งหมด มีคนไทยหลายคน หลายกลุ่มพยายามตั้งตนเป็นผู้นำขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นผู้นำที่สามารถสร้างศุนย์อำนาจแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรีได้สำเร็จ และเริ่มต้นสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีในประวัติศาสตร์ชาติไทย
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับประวัติศาสตร์ไทย แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ ๑๕ ปี แต่ความซับซ้อนทางการเมือง รวมถึงประเด็นความลึกลับและปริศนาเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ภาพที่ ๕.๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
การสถาปนาราชธานี
กรุงธนบุรีอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการเป็นราชธานีในขณะนั้นด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
๑. กรุงธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่ควบคุมการเดินเรือทะเลที่เข้าออกในอ่าวไทย จึงสะดวกต่อการควบคุมหัวเมืองทางเหนือที่จะติดต่อซื้ออาวุธจากต่างชาติ และสะดวกกับกรุงธนบุรีเองในการสะสมอาวุธ
๒. กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ คือ ป้อมวิไชยประสิทธ์ และป้อมวิไชยเยนทร์ เป็นการสะดวกในการป้องกันศัตรูที่จะเข้ามารุกรานทางเรือ
๓. พื้นดินบริเวณกรุงธนบุรี และหัวเมืองใกล้เคียงอุดมสมบูรณ ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเหมาะสมที่จะเข้าอยู่และขยับขยายได้ทันที
การเมืองการปกครอง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราชในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา รับราชการในตำแหน่งพระยาตาก เมื่อกองทัพพม่าเข้าประชิดพระนครศรีอยุธยาได้นำกำลังฝ่ากองทหาร ออกจากอยุธยาไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ชั่วระยะเวลาไม่นาน พระยาตากก็สามารถตีจันทบุรี ธนบุรี และในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ตีค่ายพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นและค่ายอื่น ๆ แตกทุกค่าย ซึ่งถือเป็นวันกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ
ตลอดรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงของการศึกสู้รบทั้งกับคนไทยด้วยกัน ตั้งแต่ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย เจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระฝาง และการสู้รบกับพม่า ที่ตั้งทัพอยู่ตามเมืองต่าง ๆ เช่น ที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม ที่เมืองเชียงใหม่ ที่เมืองพิชัย ที่บางแก้ว ราชบุรี แต่สงครามครั้งสำคัญที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แก่ "ศึกอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก" เพราะพม่าตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่หลังจากนั้นกองทัพไทยก็สามารถขับไล่พม่าได้สำเร็จ
นอกจากนี้ยังเป็นรัชสมัยของการขยายอาณาเขตไปลาวและเขมร โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปตีเวียงจันทร์ได้เมืองหลวงพระบาง หัวเมืองใหญ่น้อยจนจรดญวนในครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาด้วย สงครามครั้งนี้ทำให้ลาวต้องตกเป็นประเทศราชของไทย
สำหรับการแผ่ขยายอาณาเขตไปเขมรสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ พร้อมด้วยเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรส คุมกองทัพไปปราบเขมร และมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จัดการอภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทร์พิทักษ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเขมรด้วย แต่เจ้าเขมรหนีไปพนมเปญ ทัพไทยจึงตามไปที่พนมเปญ ยังไม่ได้สู้รบก็มีข่าวจลาจลทางกรุงธนบุรีขึ้น กองทัพไทยจึงต้องยกทัพกลับ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษที่หน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ รวมพระชนมายุ ๔๘ พรรษา
สังคมและเศรษฐกิจ
ได้บันทึกว่า พ.ศ. ๒๓๑๑ หลังจากเสียกรุงไม่นาน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งทูตนำพระราชสาส์น ไปเมืองจีนพร้อมเครื่องราชบรรณาการ แต่จีนไม่ยอมรับฐานะของพระองค์ แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๒๔ ได้ทรงส่งทูตไปจีนอีกครั้ง ครั้งนี้ราชสำนักจีนรับเครื่องบรรณาการพระราชสาส์นและรับรองฐานะของพระองค์ ซึ่งนับว่าเป็นผลประโยชน์ต่อการค้าของไทยในเวลาต่อมา
ในสมัยกรุงธนบุรีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนับว่าดียิ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสนับสนุนช่างจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรไทย ส่วนหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการและนำเรือสินค้าไปขาย กับต่างประเทศในนามของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำเรือสำเภาของตนเองบรรทุกสินค้าไปขายได้ด้วย เช่น จีนมั่วเสง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให่เป็นหลวงอภัยพานิช ได้จัดสินค้าบรรทุกสำเภาไปค้าขายที่เมืองจีนปีละ ๑๕ ลำ และยังนำสำเภาส่วนตัวไปอีกปีละ ๒ ลำ ด้วย
สำหรับการค้ากับชาติตะวันตกนั้นปรากฏว่าไม่มีพ่อค้าชาติตะวันตกเข้ามาค้าขายกับไทย เพราะสภาพการเมืองทั้งของไทยและของยุโรปในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย
ความเจริญทางด้านวัฒนธรรม
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล มีการติดต่อค่าขายกับกรุงศรอยุธยาและพ่อค้าต่างประเทศ ความนิยมในทางศิลปะจึงคล้างคลึงกัน ก่อให้เกิดเป็น “ศิลปะสกุลช่างธนบุรี” ขึ้นซึ่งนับว่าเป็นสกุลช่างที่มีฝีมือ ลักษณงานถอดแบบมาจากช่างของอยุธยามากที่สุด และเป็นที่เชื่อกันว่า ศิลปะสกุลช่าง |